โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด



ความเป็นมา คำขวัญ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย

เกี่ยวกับโครงการฯ / ความเป็นมา คำขวัญ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย


พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร


"TO BE NUMBER ONE” ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับลูกของข้าพเจ้า เพราะเกิดขึ้นมายาวนานหลายสิบปีแล้ว นับว่าเขาต้องเป็น TO BE NUMBER ONE เป็นคนแรก เคยกรรแสงตอนเด็ก ๆ เรียนไม่ได้ที่ ๑ จะเป็นอย่างไร ตอนใหม่ ๆ ก็แย่ รอมาตั้ง ๕๐ กว่าปีแล้ว ๔๐ กว่าปีแล้ว ทำให้ไม่แปลกใจว่า ทำไมต้องโครงการ TO BE NUMBER ONE ซึ่งมันดูแล้วอาจจะน่าหมั่นไส้ว่า ทำไมต้องมี NUMBER ONE แต่เมื่อโครงการนี้กำเนิดขึ้นมาถึง ๓ ปี ก็เห็นได้ว่าประสิทธิผลเป็น NUMBER ONE จริงๆ เราขอชมเชยทุกคน ที่ร่วมมือให้โครงการ เพื่อช่วยประชาชนที่เกิดความเดือดร้อน มีความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว ฉะนั้นจึงบอกว่า ก้าวหน้าต่อไปเถอะ ต้องบูรณาการทุกฝ่าย ต้องช่วยกัน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ให้ถือเป็นหน้าที่โดยตรง ในการดูแลเยาวชนให้ปลอดภัยจากยาเสพติด


ความเป็นมา


"ยาเสพติด” ปัญหาสำคัญระดับชาติที่รัฐบาลถือเป็นนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะปัญหายาเสพติดที่มีการระบาดในทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกขณะ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านการเมืองและความมั่นคงของประเทศ


ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา สภาพปัญหายาเสพติดเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ในอดีตอย่างสิ้นเชิงจากเดิมที่ “เฮโรอีน ” เป็นปัญหาสำคัญที่ตำรวจต้องเร่งปราบปรามให้สิ้นซาก กลายเป็น “ยาบ้า” หรือสารเมทแอมเฟตามีน ที่กำลังระบาดตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคมและประเทศ จากข้อมูลการสำรวจพบว่ามีเยาวชนจำนวนกว่า 6 แสนคน หลงเข้าสู่วังวนของ ยาบ้า และจากสถิตินักโทษเด็ดขาดของกรมราชทัณฑ์ที่ถูกจำคุกอยู่ตามทัณฑสถานทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 137,344 คน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษคดียาเสพติดเกินกว่าครึ่ง คือประมาณ 87,966 คน คิดเป็นร้อยละ 64.05 และในจำนวนนักโทษเด็ดขาด คดียาเสพติดเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 27,499 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.26 ของนักโทษคดียาเสพติดที่ต้องโทษในคดีเสพหรือครอบครองและทั้งเสพและครอบครอง


ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เพราะมีจำนวนถึง 21 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติดสูง เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ แต่ยังขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีพอ รวมทั้งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ จึงทรงพระกรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ชื่อเพื่อให้ง่ายต่อการรณรงค์ว่าโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในประเทศให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือและรวมพลังจากภาครัฐและเอกชน กระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของปวงชนในชาติให้มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักว่าการที่จะเอาชนะปัญหายาเสพติดมิใช่หน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกคนในชาติจะร่วมแรง ร่วมใจกันเป็นพลังของแผ่นดินที่จะต่อสู้และเอาชนะปัญหายาเสพติดให้ได้โดยเร็ว โดยทรงมีพระประสงค์มุ่งเน้นการรณรงค์ในกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่นและเยาวชน โดยกลวิธีสร้างกระแสการแสดงพลังอย่างถูกต้องโดยไม่ข้องแวะกับยาเสพติด การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตให้แก่เยาวชนในชุมชน จัดระบบการบำบัดรักษารองรับภายใต้โครงการ “ใครติดยา ยกมือขึ้น” ทั้งนี้เพื่อคืนคนดีสู่สังคมและป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายสมาชิกและชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อร่วมกันรณรงค์และจัดกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเสมือนการเติมสิ่งที่ดีให้กับชีวิต เพื่อให้เกิดค่านิยมของการเป็นหนึ่งโดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติด ดังพระราชดำรัสในวโรกาส การแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “TO BE NUMBER ONE” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 ณ ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข ความว่า “กิจกรรมในโครงการ TO BE NUMBER ONE จะเบนความสนใจจากการหาความสุขชั่วครั้งชั่วคราวจากยาเสพติด อยากให้โครงการนี้สำเร็จด้วยดี แต่จะทำคนเดียวไม่ได้ จึงขอความร่วมมือจากทุกคน ”


ดังนั้น โครงการ TO BE NUMBER ONE จึงเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยมี "กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข" ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เลขานุการโครงการ เพื่อเป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน


คำขวัญโครงการ TO BE NUMBER ONE


“ เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด ” ความหมายคือ การเป็นหนึ่ง ทุกคนเป็นได้ เพราะทุกคนต่างมีดีอยู่ในตัวเอง หากค้นพบสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ สนใจและมีความถนัด สามารถฝึกฝนและทำจนเป็นผลสำเร็จได้ ทำแล้วมีความสุข มีความเชื่อมั่นและมีความภาคภูมิใจ


วัตถุประสงค์


1. เพื่อสร้างกระแสค่านิยมและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจในกลุ่มเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
2. เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพเยาวชนให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตนเอง
3. เพื่อสนับสนุนเยาวชนและชุมชนให้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยการสนับสนุนของสังคม
4. เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับผู้มีปัญหายาเสพติด โดยให้โอกาสกลับมาเป็นคนดีของสังคม
5. เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มประชาชนและเยาวชนทั่วไป


เป้าหมายของโครงการ


กลุ่มเป้าหมายหลัก

1. วัยรุ่นและเยาวชนอายุ 6 – 24 ปี
2. เยาวชน และประชาชนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเสพ

กลุ่มเป้าหมายรอง

ประชาชนทั่วไป